ฮั่นตะวันออก (คริสต์ศักราช 25 – 220) ของ ราชวงศ์ฮั่น

นับแต่ "หวังหมั่ง" ถอดถอน "หยูจื่ออิง" ยุวกษัตริย์องค์สุดท้ายในราชวงศ์ฮั่นตะวันตก เพื่อตั้งตนเป็นใหญ่ โดยจัดระเบียบการปกครองใหม่ และก่อตั้งราชวงศ์ซิน ขึ้น แต่ความล้มเหลวของระเบียบใหม่ได้สร้างกระแสต่อต้านจากประชาชน เกิดเป็นกบฏชาวนาในพื้นที่ต่าง ๆ อาทิ กองกำลังคิ้วแดง ที่นำโดยฝานฉงจากแถบซานตง และกองกำลังลี่ว์หลิน ซึ่งนำโดยหลิวซิ่ว จากหูเป่ย เป็นต้น โดยในบรรดากองกำลังเหล่านี้ ถือว่ากองทัพของหลิวซิ่วมีกำลังกล้าแข็งที่สุด ภายหลังการศึกที่คุนหยัง ชัยชนะอย่างเด็ดขาดของกองกำลังลี่ว์หลินต่อกองทัพราชวงศ์ใหม่ ทำให้หลิวซิ่วถือเป็นโอกาสเข้ากลืนขุมกำลังติดอาวุธขนาดเล็กทางตอนเหนือ ขยายฐานกำลังไปยังเหอเป่ย ซึ่งเป็นดินแดนทางภาคเหนือของจีนในปัจจุบัน

ปีคริสต์ศักราช 25 หลิวซิ่วก็ตั้งตัวขึ้นเป็นฮ่องเต้ครองดินแดนเหอเป่ย ภายใต้สมญานามว่า ฮั่นกวงตี้ และใช้ชื่อราชวงศ์ฮั่นตามเดิม โดยทางประวัติศาสตร์ได้แบ่งยุคนี้เป็นฮั่นตะวันออก เนื่องจากนครหลวงตั้งอยู่ที่เมืองลั่วหยางภารกิจแรกของกวงอู่ตี้คือการปราบกองกำลังคิ้วแดงที่กำลังปิดล้อมเมืองฉางอัน

ปีรัชสมัยที่ 12 ของกวงตี้ ก็สามารถปราบก๊กของกงซุนซู่ในเสฉวนลงอย่างราบคาบ รวมประเทศจีนกลับมาเป็นหนึ่งเดียวกันอีกครั้ง จากนั้นตามมาด้วยประกาศปลดปล่อยแรงงานทาส ซึ่งถือเป็นการปลดปล่อยแรงงานการผลิตครั้งใหญ่ นอกจากนี้ ยังซ่อมสร้างการชลประทานทั่วประเทศ รื้อฟื้นภาคการเกษตรให้กลับมีชีวิตชีวาอีกครั้ง

รัชสมัยหมิงตี้ ก็ยกเลิกการผูกขาดการค้าเกลือและเหล็กกล้า อีกทั้งธุรกิจอื่น ๆ อาทิ ธุรกิจหลอมและหล่อทองแดง ธุรกิจผ้าไหมเป็นต้น ทำให้บ้านเมืองและการค้าขายในยุคฮั่นตะวันออกเจริญรุ่งเรืองขึ้น เมืองลั่วหยังกลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าของประเทศ ส่วนศูนย์กลางทางภาคใต้ ได้แก่ เมืองหยังโจว จิงโจว อี้โจว ก็มีความเจริญในด้านธุรกิจหัตถกรรม จำนวนประชากรในเมืองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

รัชสมัยจางตี้ และเหอตี้ ถึงกับมีการเดินทางออกไปติดต่อเชื่อมสัมพันธไมตรียังดินแดนฝั่งตะวันตก เพื่อสานต่อแนวการค้าบนเส้นทางสายไหม ขณะเดียวกัน บรรดาเจ้าที่ดินทั้งฝ่ายบุ๋นและฝ่ายบู๊ต่างก็อยู่ในช่วงสั่งสมกำลังบารมี

หลังรัชสมัยเหอตี้ บรรดาเชื้อพระวงศ์และเหล่าขุนนางชั้นสูงต่างก็มีอำนาจที่เข้มแข็งมากขึ้น มักปรากฏว่าเชื้อพระวงศ์และขุนนางผลัดกันหรือร่วมมือกันเข้ากุมอำนาจในระหว่างการผลัดแผ่นดินอยู่บ่อยครั้ง ในสี่รัชสมัยต่อมาอันได้แก่ ซุ่นตี้ ช่งตี้ จื้อตี้และเหิงตี้ กษัตริย์ทั้ง 4 มีเชื้อพระวงศ์เหลียงจี้ คอยเป็นที่ปรึกษาว่าราชการให้ถึง 20 ปี สั่งสมเงินทองทรัพย์สินกว่า 3,000 ล้าน ภายหลังยุคกลางของฮั่นตะวันออก กลุ่มครอบครัวตระกูลใหญ่เข้ากุมอำนาจทางการเมือง ทำให้เกิดสภาพเป็นขั้วการเมืองแบบผูกขาด

ยุคปลายของฮั่นตะวันออก ได้เกิดกระแสการวิพากษ์การเมืองจากกลุ่มปัญญาชนและขุนนางผู้น้อยส่วนหนึ่ง ที่ต้องการแสดงความไม่พอใจต่อระบบการเมืองการปกครองในสมัยนั้น จนเกิดวิกฤตทางการเมือง

เมื่อสิ้นรัชสมัยเหิงตี้ เหล่าขุนนางก็ยิ่งฮึกเหิมในอำนาจ ถึงกับมีการซึ้อขายตำแหน่งทางการเมืองกันอย่างเปิดเผย อำนาจบ้านเมืองล่มสลาย สังคมเต็มไปด้วยคนจรไร้ถิ่นฐาน เกิดความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้าเมื่อถึงรัชสมัยหลิงตี้ เกิดกบฏโพกผ้าเหลืองทางภาคเหนือนำโดยเตียวก๊ก เข้าล้มล้างราชวงศ์ฮั่นตะวันออก บรรดาเจ้าที่ดินที่มีกำลังกล้าแข็งต่างก็ฉกฉวยโอกาสนี้พากันตั้งตนเป็นใหญ่ ต่อสู้แย่งชิงอำนาจ จนท้ายสุดหลงเหลือเพียง 3 กลุ่มอำนาจใหญ่นั่นคือ เว่ย สู่ และ อู๋ หรือที่รู้จักกันในนามของ "สามก๊ก" นั่นเอง

ในช่วงปลายราขวงศ์ฮั่นตะวันออกซึ่งเป็นช่วงสมัยยุคสามก๊ก พระเจ้าเหี้ยนเต้ทรงถูกบังคับให้สละพระราชบัลลังก์และมอบให้วุยอ๋องโจผี บุตรชายของโจโฉ แต่ว่าราชวงศ์ฮั่นยังไม่สิ้นสุดเมื่อฮันต๋งอ๋องเล่าปี่ ผู้เป็นพระเจ้าอาของพระเจ้าเหี้ยนเต้และเชื้อพระวงศ์สถาปนาตนเองขึ้นเป็นพระมหาจักรพรรดิในแดนเสฉวนเพื่อรักษาราชวงศ์ฮั่นและเชื้อสายราชตระกูลเล่าต่อไปและกอบกู้ราชวงศ์ฮั่นให้ฟิ้นคืนอีกครั้ง แต่หลังจากพระเจ้าเล่าปี่สวรรคต พระเจ้าเล่าเสี้ยนขึ้นครองราชย์ต่อแต่พระองค์กลับไม่สนใจบริหารบ้านเมือง กลับเอาเสพสุรานารีไปวันๆ แถมยังหูเบามักถูกขันทีกังฉินยุแหย่ทำให้จ๊กก๊กอ่อนแอลงและถูกวุยก๊กโจมตีจนล่มสลายลง หลังจากนั้นเวลาต่อมาสุมาเอี๋ยนได้ล้มล้างราชวงศ์วุย กลืนดินแดนเสฉวนของจ๊กก๊ก และตีง่อก๊กจนแตกเป็นเหตุให้แผ่นดีนจีนที่ได้แตกออกเป็นสามก๊กกลับมารวมกันอีกครั้งซึ่งอยู่ภายใต้การนำของราชวงศ์ใหม่คือ ราชวงศ์จิ้น อันเป็นการล่มสลายของราชวงศ์ฮั่นในที่สุด